วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

วัดจันทาราม(วัดท่าซุง )จ.อุทัยธานี



วัดจันทาราม (วัดท่าซุง ) ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลน้ำซึม ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 5 กม. ตามทางสาย 3265มุ่งตรงไปทางแพข้ามฟากอำเภอมโนรมย์ ประมาณ 12 กม. เดิมเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา มีโบสถ์ขนาดเล็ก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือพื้นบ้าน เข้าใจว่าเขียนในสมัยหลังเป็นเรื่องพุทธประวัติ บางภาพต่อเติมจนผิดส่วน มีศาลามณฑปแก้วที่สร้างขึ้นใหม่ รวมทั้งมีท่าเรือคอนกรีตริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาทางน้ำ วิหารมีพระปูนปั้นฝีมือพองาม มีลายไม้จำหลักขอบหน้าบันเหลืออยู่ 2-3 แห่ง สิ่งที่เป็นโบราณวัตถุของวัดคือ ธรรมมาสน์ที่หลวงพ่อใหญ่สร้าง ด้านตรงข้ามกับวัดเป็นปูชนียสถานแห่งใหม่ มีบริเวณกว้างขวางมาก มีการก่อสร้างอาคารต่างๆ มากมาย ซึ่งสร้างโดยพระราชมหาวีระ ถาวาโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) พระเถระที่มีชื่อเสียงเป็นบริเวณพุทธาวาสที่น่าชมมาก พระอุโบสถใหม่สร้างสวยงามภายในประดับและตกแต่งอย่างวิจิตร บานหน้าต่างและประตูด้านในเขียนภาพเทวดาโดยจิตรกรฝีมือดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาตัดลูกนิมิตพระอุโบสถแห่งนี้ บริเวณโดยรอบสร้างกำแพงแก้วและมีรูปหล่อหลวงพ่อปาน และหลวงพ่อใหญ่ขนาด 3 เท่า อยู่มุมกำแพงด้านหน้า ยังมีศาลาอยู่หลายหลัง สำหรับใช้เป็นสถานที่ฝึกสมาธิและมีที่พักให้ด้วย
ภายในวัดยังมีรถซาเล้งบริการด้วย คนละ 10 บาท หรือจะเหมาเป็นหมู่คณะก็ได้ สำหรับนั่งชมวิหารแต่ละที่ โดยไม่ต้องขับรถไปเอง
จะพานั่งวนชมวิหารรอบๆวัดแล้วย้อนกลับมาส่งให้ที่เดิม
วิหารที่สวยมากๆเป็นจุดหลักของวัดท่าซุง ก็คือวิหารแก้วและวิหารทอง
วิหารแก้ว ด้านหน้าวิหารก็จัดดูสวยงาม ภายในวิหารตกแต่งด้วยแก้วตลอดทั้งวิหาร สวยงามมาก

ส่วนวิหารทองประดับด้วยทองทั้งวิหาร มีประติมากรรมแกะสลัก เป็นลวดลายต่างๆสวยงามมาก

วัดถ้าเขาวง จ.อุทัยธานี





วัดถ้ำเขาวง เป็นเขาขนาดใหญ่อยู่ในตำบลบ้านไร่ อยู่ห่างจากอำเภอ 12 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 3011 จะผ่านทางโค้งศาลเจ้าพ่อเขารัก แล้วมาตัดกับสามแยกให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เขาวง ประมาณ 8 กิโลเมตร จะถึงทางแยก เข้าไปประมาณ 300 เมตร

สร้างด้วยไม้สัก และไม้มะค่า รวมทั้งไม้เก่าจากเรือนไทย

การจัดภูมิทัศน์ในวัดถือว่าสวยงาม ฉากหลังเป็นเขาหินปูนสูงตระหง่าน ด้านหน้ามีบ่อน้ำและสวนที่ตกแต่งด้วยหิน ไม้ดัด และไม้ประดับ มูลค่าในการก่อสร้างประมาณ 30 ล้านบาท ระหว่างทางเดินที่จะขึ้นไปชมถ้ำ จะผ่านน้ำตกเทียมที่ดูเข้ากับบรรยากาศ

ถ้าเดินขึ้นเขาด้านหลังวัดไปเรื่อยๆ ที่เขาด้านหลังจะมีถ้ำอยู่ 7-8 ถ้ำ บางถ้ำเป็นที่นั่งวิปัสสนาสำหรับพระภิกษุ บางถ้ำเป็นถ้ำค้างคาว บางถ้ำมีหินงอกหินย้อยให้ชม บนเขามีที่ราบกว้างมีต้นไม้หลายชนิด เช่น ไม้ยาง ไม้มะค่า ไม้เสลา เป็นต้น

เวลาที่จะชมวัดได ้และอยากเก็บภาพอย่างสวยงาม คือช่วงบ่าย ที่สำคัญ พอชมวัดเสร็จสามารถไปเทียว ถ้าพุหวายต่อได้เลย และถ้าใครมามืดค่ำที่บริเวณบ้านไร่ ที่อ.บ้านไร่มีบ้านพักราคาถูกมาก อยู่แถวปั้มน้ำมันราคาเริ่มต้นที่ 350 บาทเอง มีแอร์ ทีวี ตู้เย็น มีโต๊ะทานอาหารแยกเป็นสัดส่วนกับห้องนอน หรือจะเช่าเป็นหลังก็มี ผู้ดูแลก็เป็นกันเองมาก

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

หินงอกหินย้อย

หินงอกหินย้อย ถ้ำพุหวาย จ.อุทัยธานี
ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย สภาพโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนสูงชันสลับซับซ้อน ถ้ำพุหวาย เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำกว้างขวาง มีหินงอกหินย้อย เช่น รูปเจดีย์ อ่างน้ำ ทางเข้าถ้ำอยู่บนไหล่เขาต้องเดินขึ้นไป อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีโพรงทะลุถึงด้านตรงข้ามของภูเขา มีค้างคาวอาศัยอยู่ 9 ชนิด จะมีเจ้าหน้าที่นำทาง และแนะนำข้อมูลพร้อมบริการให้ยืมไฟฉาย
อยู่ที่บริเวณปากถ้ำ ใช้เวลาเดินชมความงามประมาณ 1 ชั่วโมง ให้บริการตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาประมาณ 4 โมงเย็น แต่อาจเลื่อนได้ ถ้ามีคนไปชมเยอะ ทางด้านหลังของถ้ำพุหวาย คือ ถ้ำเทพมาลีหรือถ้ำพญานาค เป็นถ้ำขนาดเล็กค่อนข้างลึก มีความสวยงามตามธรรมชาติของหินงอกหินย้อย ยอดเขาพุหวาย สูง 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล สามารถมองเห็นทัศนียภาพที่กว้างไกลอย่างสวยงาม บนสันเขามีสภาพเป็นป่าเต็งรังที่ค่อนข้างสมบูรณ์
การเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 3011 แยกเข้าทางเดียวกับสวนห้วยป่าปกรีสอร์ท และวัดถ้ำเขาวง แต่ทางไปถ้ำจะอยู่เลยจากแยกเข้าวัดถ้ำเขาวงไปประมาณ 4 กิโลเมตร

หินงอก คือหินที่งอกจากพื้น หินย้อย คือหินที่ย้อยลงมาจากด้านบน
หินงอกหินย้อย เกิดมากโดยเฉพาะภูเขาหินปูน ฝนที่ตกลงมามีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 ) ซึ่งละลายในน้ำฝน... กลายเป็นกรดคาร์บอนิก (H2CO3) ไหลไปตามก้อนหิน.... และทำปฏิกิริยากับแคลเซียมตาร์บอเนต ที่มีอยู่ในหินปูน เกิดเป็นสารละลายแคลเซียมไฮโดรเจน คาร์บอเนต ซี่งไหลไปตามพื้นถนังถ้ำ เมื่อน้ำระเหยหมดก็เหลือตะกอน สะสมเป็นหินงอกหินย้อย....
จัดเป็นการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก แบบช้าๆ....

การเกาะตัวของหินปูนเป็นเวลานานๆ อาจทำให้หินงอกหินย้อยเชื่อมเป็นก้อนเดียวกันได้



จุดนี้เป็นจุดชมวิวของถ้ำ สามารถมองเห็นได้ในมุมกว้างของถ้ำ